บทนำพยาธิวิทยาทั่วไป  (Introduction of general pathology)

พยาธิวิทยา (Pathology)

นิยามและคำศัพท์ที่ควรรู้ในการศึกษาพยาธิวิทยา

สาเหตุของโรค (Etiology)

  - สาเหตุโน้มนำ (Predisposing causes )

  - สาเหตุแท้จริง (Exciting causes หรือ Precipitating causes )

      - สาเหตุทางกายภาพ (Physical cause of disease )

      - สาเหตุทางเคมี (Chemical causes )

      - สาเหตุจากอาหาร (Nutritive disease )

      - สาเหตุจากพันธุกรรม ( Genetic disease )

      - สาเหตุจากสิ่งมีชีวิต (Biological causes )

  การติดต่อของโรค (Mode of Transmission )

พยาธิวิทยา (Pathology) คือ การศึกษาการเปลี่ยนแปลงในร่างกายเมื่อเกิดโรค        หรือพยาธิสภาพที่เกิดขึ้นในร่างกายของคนหรือสัตว์เมื่อเกิดโรค ในการศึกษาเรื่องราวของโรคที่เกิดขึ้นจึงจำเป็นต้องรู้ถึงสาเหตุและธรรมชาติของโรค รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของร่างกายที่เกิดตามมาภายหลังการเกิดโรคทั้งทาง กายวิภาคฯ ทางสรีรวิทยา และทางเคมี

นิยามและคำศัพท์ที่ควรรู้ในการศึกษาพยาธิวิทยา

สุขภาพ (Health) คือ สภาพปกติของร่างกายและจิตใจนั่นคือทุกส่วนของร่างกายทำงานโดยปกติ มีการตอบสนองได้ดีในสภาพแวดล้อมต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ และรักษาสมดุลไว้ได้เป็นปกติ เรียกว่า สภาพสมดุล (Homeostasis)

พยาธิสภาพหรือสภาพโรค (Disease) คือ สภาพที่ร่างกายไม่สามารถรักษาสภาพสมดุลได้ นั่นคือมีความผิดปกติทั้งร่างกายและจิตใจ

พยาธิวิทยาทั่วไป (General Pathology) คือ การศึกษาถึงการเปลี่ยนแปลงพื้นฐานที่พบได้บ่อยๆ ในเนื้อเยื่อหรืออวัยวะของร่างกายเมื่อเกิดพยาธิสภาพ

พยาธิวิทยาตามระบบ (Systemic Pathology) คือการศึกษาถึงการเปลี่ยนแปลงตามระบบต่างๆ ของร่างกายในการเกิดพยาธิสภาพ

พยาธิวิทยาคลินิก (Clinical Pathology) หมายถึงการศึกษาทางห้องปฏิบัติการเพื่อช่วยวินิจฉัยและชันสูตรโรคได้แม่นยำยิ่งขึ้น เช่นการตรวจโรคทางโลหิตวิทยา การตรวจการทำงานของตับ ไต ทางห้องปฏิบัติการ ฯลฯ

โภชนาพยาธิวิทยา (Nutritional Pathology) หมายถึงการศึกษาถึงขบวนการของโรคที่เกิดจากสภาพขาดอาหาร( Deficiency) หรือ ได้รับอาหารมากเกินไป (Excess of food stuffs ) ซึ่งรวมถึงแร่ธาตุและไวตามินต่างๆ

พยาธิสรีรวิทยา (Pathological Physiology) หมายถึงการศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางสรีรของร่างกายในขณะร่างกายเกิดโรค

 นอกจากนั้น การศึกษาพยาธิวิทยาควรจะต้องทราบถึงสิ่งต่อไปนี้

สาเหตุของโรค (Etiology) คือ การศึกษาถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคหรือพยาธิสภาพขึ้นในร่างกายสัตว์ อาจเป็นสาเหตุที่เกิดขึ้นเองภายในร่างกาย (Intrinsic) หรืออาจมีตัวการจากภายนอก (Extrinsic) โดยทั่วๆ ไป จำแนกออกเป็น ตัวการทางกายภาพ (Physical) ตัวการทางเคมี (Chemical) ตัวการทางโภชนาการ (Nutritional) และตัวการที่มีชีวิต (Biological) เช่น แบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา

พยาธิกำเนิด (Pathogenesis) หมายถึงกระบวนการของโรคซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในร่างกายตั้งแต่เริ่มเป็นโรคจนถึงระยะสุดท้าย คือหายจากโรคหรือตายหรือเป็นตัวนำโรคหรือพาหะนำโรค(Carrier)

อาการ (Signs) คือการเปลี่ยนแปลงของร่างกายที่สามารถตรวจสอบโดยอาศัยเครื่องมือช่วย พบความผิดปกติในร่างกายได้แม้จะเป็นระดับเซลล์

กลุ่มอาการ (Symptoms) เป็นความผิดปกติของร่างกายในระดับอวัยวะและระบบซึ่ง

สามารถสังเกตหรือมองเห็นได้

พยาธิวิการ (Lesions) เป็นการเปลี่ยนแปลงทางกายวิภาคของร่างกายที่อยู่ในพยาธิสภาพซึ่งสามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่า (Macroscopic lesion) หรือเห็นได้โดยอาศัยกล้องจุลทรรศน์ (Microscopic lesion) เช่นตุ่มวัณโรค ฝีหนองปอดอักเสบ ฯลฯ

การชันสูตรโรค (Diagnosis) เป็นวิธีการเพื่อจะพิสูจน์ว่าสัตว์ป่วยเป็นโรคอะไร โดยอาศัยข้อมูลจากอาการ กลุ่มอาการ สาเหตุหรือตัวการที่แท้จริง การผ่าซากชันสูตรชันสูตร

(Necropsy) พยาธิวิการ และข้อมูลทางพยาธิวิทยาคลินิก

การพยากรณ์โรค (Prognosis) เป็นการพยากรณ์โดยคลินิกแพทย์ ว่าโรคจะมีความรุนแรงมากขึ้นหรือลดลงอย่างไร

อัตราการป่วย (Morbidity) หมายถึงอัตราร้อยละของสัตว์ที่ป่วยเป็นโรคในฝูงที่ได้รับเชื้อ

อัตราการตาย (Mortality) หมายถึงอัตราร้อยละของสัตว์ป่วยที่ตายลง

การผ่าชันสูตรซาก (Necropsy / Autopsy ) หมายถึงการผ่าซากชันสูตรโรคในสัตว์ที่ตายอย่างเป็นระบบระเบียบ

การตัดชิ้นเนื้อตรวจจากสัตว์ป่วย (Biopsy ) คือการตรวจชิ้นเนื้อที่ตัดเอามาจากตัวสัตว์ขณะที่ยังมีชีวิตอยู่

พยาธิวิทยาจึงเป็นการศึกษาที่ครอบคลุมถึงการเกิดโรค การปรากฏของโรคหรือความผิดปกติ โดยการศึกษาถึงสาเหตุของโรค ผลที่จะเกิดตามมา และการวินิจฉัยหาสาเหตุ ซึ่งในกระบวนการนี้เป็นการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ การปรากฏขึ้นของโรค (Manifestations) เป็นผลพวงจากการทำลายโดยสิ่งก่ออันตรายทั้งหลาย แม้กระทั่งผลอันเนื่องจากขบวนการป้องกันตัวเองของร่างกายเองด้วย ความรุนแรงของโรคหรือความผิดปกติ ขึ้นกับองค์ประกอบหลายอย่างโดยจะทำให้เกิดผล ต่อมา ได้แก่ ผลของการเจริญพัฒนา ( development) การอักเสบ ( inflammation) เนื้องอกและเนื้อร้าย ( neoplastic ) และความเสื่อม ( degeneration)

ในการศึกษาพยาธิวิทยาจึงครอบคลุมไปถึงการศึกษาสาเหตุของโรค พยาธิกำเนิดและผลที่ตามมาจากการเกิดโรค การพยากรณ์โรคนอกจากนั้นพยาธิวิทยายังช่วยให้คลินิกแพทย์วินิจฉัยโรคได้ถูกต้อง ยิ่งขึ้นอีกด้วย วิชาพยาธิวิทยาจึงเป็นรากฐานของวิชาอายุรศาสตร์และวิชาทางคลินิก โดยมีความเชื่อมโยงกับวิชาวิทยาศาสตร์พื้นฐานอื่น ๆ

ดังนั้นการเรียนวิชาพยาธิวิทยาทั่วไปจำเป็นต้องรู้ คำศัพท์ (Terminology) และ ความหมายหรือคำนิยาม ( Definition ) ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับทฤษฎีเป็นหลัก และอธิบายลักษณะของรอยโรคได้ สามารถลำดับหรือจดจำขบวนการเกิดโรคได้ ความสำคัญหรือผลกระทบต่อร่างกายเมื่อเกิดโรคและปฏิกิริยาโต้ตอบของร่างกายเมื่อเกิดโรค รวมถึงการตรวจรอยโรคที่สำคัญในอวัยวะหรือเนื้อเยื่อจากการมองเห็นด้วยตาเปล่า (Gross lesion ) ส่วนภาคปฏิบัติการควรอ่าน รอยโรคที่สำคัญในอวัยวะหรือเนื้อเยื่อจากการมองเห็นด้วยตาเปล่า (Gross /Macroscopic description) ได้ หรืออธิบายลักษณะรอยโรคที่ แยกด้วยกล้องจุลทรรศน์ (Microscopic description) ได้

สาเหตุของโรค (Etiology)

สาเหตุของโรคแบ่งได้เป็น 2 สาเหตุ คือ

สาเหตุโน้มนำ (Predisposing cause หรือ Constitutional factors )

สาเหตุแท้จริง (Exciting cause )

สาเหตุโน้มนำ (Predisposing causes )

จำแนกเป็น สาเหตุหรือความผิดปกติที่เกิดขึ้นอยู่ในตัวสัตว์เอง แบ่งออกเป็น 2 ประเภท

สาเหตุทางกรรมพันธุ์ (Genetic causes) เกิดจาการแสดงความผิดปกติเนื่องจากกลุ่มของยีนหรือยีนตัวใดตัวหนึ่ง ในคนปัจจุบันได้มีการศึกษาแบบพิมพ์หน่วยพันธุกรรม (Genome Project) อันเป็นประโยชน์อย่างยิ่งยวดทางการแพทย์ในโรคที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรม ส่วนในสัตว์เองได้ดำเนินการในแนวเดียวกับคนโดยศึกษาในหนู

วิการของอวัยวะที่ไม่เกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์ (Non-genetic causes ) เช่น

เช่น ไม่มีพัฒนาการของอวัยวะ (Agenesis /Aplasia)  ขนาดอวัยวะเล็กกว่าปกติ (Hypoplasia)

การตีบตันของอวัยวะที่เป็นท่อ (Atresia) ลักษณะเป็นช่องโหว่ในแนวกลางลำตัว(Fissure) การรวมหรือติดกันของอวัยวะที่เป็นคู่ (Fusion) อวัยวะขนาดโตกว่าปกติ (Hypertrophy ) อวัยวะขนาดเล็กกว่าปกติจากการฝ่อไป ( Atrophy) ลักษณะของตัวอ่อนยังเหลืออยู่ เป็นต้น

นอกจากสาเหตุดังกล่าวข้างต้นแล้ว สาเหตุภายในตัวสัตว์ที่โน้มนำให้เกิดโรคได้ยังขึ้นอยู่กับสิ่งต่อไปนี้

ชนิดของสัตว์ (Genus)

โรคของสัตว์บางโรคเกิดขึ้นกับสัตว์ชนิดหนึ่งแต่ไม่เกิดกับสัตว์ชนิดอื่น ๆ เช่น โรคอหิวาต์

สุกร (Swine fever ) ไม่ติดคนและโรคอหิวาต์ในคน (Cholera ) ก็ไม่ติดสุกร หรือโรคปอดอักเสบจากแอคติโนบาซิลัส ในสุกร พบว่าจะไม่เกิดในสัตว์ชนิดอื่น

เพราะสิ่งที่เชื้อต้องการนั้นมีอยู่ในเซลล์ปอดของหมูเท่านั้น

พันธุ์สัตว์ (Breed )

โคนมจะเกิดโรคได้ง่ายกว่าในโคเนื้อ สุนัขพันธุ์ใหญ่ เช่น Great dane, Germann Shapherd เกิดโรคกระดูกได้ง่ายกว่าสุนัขพันธุ์เล็ก เช่น Pagking ส่วนสุนัขพันธุ์ขนเกรียน เช่น Boxer มักเกิดโรคผิวหนังจาก เชื้อรา Tricophyton spp. ได้ง่ายกว่าสุนัขพันธุ์ขนยาว

อายุสัตว์ (Age )

การเกิดเนื้องอกหรือมะเร็ง ส่วนมากพบในสัตว์อายุมาก เช่น โรค Leukosis ในไก่

โรคติดเชื้อที่ปอดมักเกิดและรุนแรงในลูกสัตว์มากกว่าในสัตว์โตหรือสัตว์อายุมาก โรคพยาธิไส้เดือน มักพบในลูกสัตว์มากกว่าสัตว์โต และโรคไข้หัดสุนัขมักพบในลูกสุนัขหรือสุนัขอายุน้อย มากกว่าสุนัขโต เป็นต้น

เพศ (Sex )

มักเกี่ยวข้องกับการ เกิดโรคตามระบบสืบพันธุ์ ซึ่งพบว่าสัตว์ตัวเมียมีโอกาส เกิดโรคได้ง่ายกว่าตัวผู้ หรือพบในสุนัขตัวผู้มากกว่าสุนัขตัวเมีย เช่น โรคไตอักเสบ (Nephritis )

สีของผิวหนัง (Color of skin )

หมายถึงเฉพาะรงควัตถุเมลานิน (Melanin pigment ) ถ้าสัตว์มีผิวเผือก (Albino) ซึ่งเป็นภาวะที่ไม่มีการสร้างรงควัตถุเมลานิน หรือมีการสร้างน้อย ทำให้ผิวหนังจะเกิดภาวะแพ้แสง (Photodynamic effect ) โดยเฉพาะรังสีอัลตร้าไวโอเล็ต เกิดผิวหนังอักเสบเป็นผื่นพุพอง (eczema) ได้ง่ายกว่าสัตว์ที่มีผิวหนังสีเข้ม เป็นต้น

สาเหตุแท้จริง (Exciting causes หรือ Precipitating causes )

ซึ่งเป็นสาเหตุที่มาจากนอกร่างกายสัตว์ ได้แก่

  1. สาเหตุทางกายภาพ
  2. สาเหตุทางเคมี
  3. สาเหตุจากสิ่งมีชีวิต
  4. สาเหตุจากอาหาร
  5. สาเหตุจากรังสี
  6. สาเหตุจากพันธุกรรม

  สาเหตุทางกายภาพ (Physical cause of disease )

1. เป็นแผลที่เกิดจากการกระทบกระแทก หรือเสียดสีเป็นการปรับสภาพของร่างกายตามลักษณะทางกายภาพที่มากระทบในรูปแบบต่าง ๆ กัน ได้แก่  Trauma เช่นในสัตว์ใหญ่จะเกิดขณะขนส่งสัตว์ (Confinement and shipping ) โดยอาจเกิดฟกช้ำ Contusions (Bruises ) หรือ ผิวหนังถูกครูดหรือเถือ (Abrations)  เยื่อบุรอบๆ แผลลอกหลุด หรือ แผลถลอก (Erosion ) ซึ่งเป็นการลอกหลุดของเยื่อบุผิวบางชั้น เพียงตื้นๆ Incised wound (cuts) เกิดจากเครื่องใช้ที่มีคม โดยแผลมีความยาวมากกว่าความลึก Stap wounds เป็นแผลที่เกิดจากการถูกแทง แผลจึงมีความลึกมากกว่าความยาว Laceration (tornwounds) เป็นแผลฉกรรจ์ที่เกิดจากการกระทำโดยแรงเช่น การขูด การกระแทก (Stretching) เกิดแผลเป็นบริเวณกว้าง เช่น แผลเหนือปุ่มกระดูกกระโหลก  ที่เกิดจากเครื่องมือ ทื่อ ๆ Compression injuries เป็นแผลที่เกิดจากการมีแรงกดหรือบีบอย่างช้า ๆ เช่น ขณะแม่กำลังคลอดลูก เช่น ลูกสุกรหัวกระโหลกแตกจากการกดของกระดูกช่องเชิงกรานของแม่ขณะคลอด แผลหลุมกดทับ Blast injuries แผลถูกระเบิดเกิดได้ 2 ลักษณะ คือ  Air blast injury เกิดจากแรงกดอัดอย่างรุนแรง ซ้ำ ๆ บนผิว ถ้าเกิดแผลแตก จะทำให้เกิด เลือดออกอย่างรุนแรง ( Extensive hemorrhage) หรือเกิด ฟองอากาศ (Gas emboli) ทำให้เกิดการอุดตันภายในหลอดเลือด ทำให้เกิดการตายของเนื้อเยื่อปอดและอวัยวะภายในเนื่องจากการขาดเลือดได้ ( Lung / visceral organ infarction)  Water blast injury เกิด การกระแทกบริเวณลำตัว เช่น ในปลาอาจทำให้ ถุงลม (Swim bladder ) ฉีกขาดถึงตายได การถูกรถชน ทุบตี จะเกิดบาดแผลฟกช้ำ ถ้าเกิดที่ข้อจะเกิดข้อเคล็ด (Sprain) ทำให้เส้นเอ็นที่ยึดกล้ามเนื้อแตกฉีกได้ บางรายทำให้เกิดการเคลื่อนไปอยู่ผิดที่ (Luxation) เช่นหัวกระดูก Femur หลุดออกมานอกเบ้ากระดูกเชิงกราน หรือกระดูกสะบ้าหลุดในรายถูกรถชน หรือกระดูกหัก ( Bone fraction) ความรุนแรงของแผลจะพิจารณาจาก แรงกระทำ บริเวณที่ถูกแรงกระทำ และเนื้อเยื่อที่เกิดแผล

2. อันตรายจากกระแสไฟฟ้าหรือไฟฟ้าช็อต (Electrical injury ) ทำให้เกิดอันตรายโดยตรง แก่หัวใจ และระบบประสาทส่วนกลาง (Cardiac conduction system และ Respiratory center of the brainstem) อันตรายโดยทางอ้อมได้แก่ ทำให้เนื้อเยื่อเสียหาย กระดูกหักขณะชัก หากได้รับกระแสไฟฟ้า Voltage ต่ำ จะทำให้ตายได้เนื่องจาก เกิด Ventricle fibrillation แต่ถ้าได้รับกระแสไฟฟ้า Voltage สูงจะกดศูนย์ควบคุมการหายใจและเกิดแผลไหม้ทำให้สัตว์ตายได้

3 ฟ้าผ่า (lighting )

4. อุณหภูมิ อุณหภูมิสูงทำให้เกิด Thermal burns โดยมีระดับความรุนแรง 3 ระดับ คือ

ระดับที่ 1 ทำลายเฉพาะ Epidermis เช่น Sunburn

ระดับที่ 2 ทำลาย Epidermis & hair follicle แต่รูขุมขนสามารถซ่อมแซมได้

ระดับที่ 3 ทำลายชั้น Dermis ด้วย

โดยระดับความรุนแรง 1,2 ทำให้ผิวหนังเกิด Partial thickness ส่วนระดับ 3 จะเกิดพยาธิสภาพของผิวหนังแบบ Full thickness

นอกจากนี้ ถ้าอุณหภูมิของสิ่งแวดล้อมสูงเกินไปอาจทำให้เกิด Heat stroke สัตว์ถึงตายได้ จากการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจเสื่อม ( Myocardium degeneration) ท่อไตและสมองถูกทำลาย ( Renal tubules & brain permanent damage ) หรือความเย็น เช่น หิมะกัด (Frost bite) ทำให้เกิดเนื้อตายขึ้นที่ผิวหนังส่วนปลายเช่น ใบหู

5. กัมมันตภาพรังสี เช่น รังสีเอ็กซ์ รังสีแกมมา ซึ่งมีผลต่อเซลล์ ทำให้เซลล์บวม ร่วมกับมีช่องว่างเกิดขึ้นใน endoplasmic recticulum , mitochrondria และ นิวเคลียสบวม เส้นเลือดถูกทำลาย เกิด thrombosis และเนื้อเยื่อมีสีแดง (erythema) และ การเปลี่ยนแปลงของ Chromosome ทำให้เกิดการผ่าเหล่าได้

6. ความดันบรรยากาศ เช่น โรคหน้าอกบวม (Brisket disease ) ในโคที่เลี้ยงบนที่ราบสูง หรือ โรคนักดำน้ำ (Caisson disease )ในคนที่ดำน้ำลึกบ่อย

Host response : มักเป็น Acute serous inflammation และเกิด Proliferative inflammation และ repair ในกรณีเกิดเนื้อตายมักพบ Sero-purulent และ lymphatic response

สาเหตุทางเคมี (Chemical causes )

ในปัจจุบันที่ประเทศพัฒนาไปสู่ประเทศอุตสาหกรรมใหม่ และการพัฒนาเทคนิคการผลิต สารเคมี และยาเพื่อการบำบัดรักษาซึ่งส่งผลกระทบโดยอ้อมต่อการเลี้ยงสัตว์และอุตสาหกรรมการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ หรือสัตว์เลี้ยง เช่น ไดออกซิน ยาปฏิชีวนะ สารเคมีทางการเกษตร สัตว์ในเมืองใหญ่ เช่นสวนสัตว์เขาดิน เป็นต้น สารเคมีเหล่านี้ถ้าร่างกายได้รับในปริมาณมาก หรือในขนาดต่ำติดต่อกันเป็นเวลานานจะเกิดเป็นพิษขึ้นในร่างกาย (Poisoning) ได้ โดยเฉพาะ ต่อตับ (Hepatotoxicity) ไต (Nephrotoxicity) หัวใจ (Cardiotoxicity) สมอง (Neurotoxicity) และระบบสร้างเม็ดเลือด (Hemopoeitictoxicity) ซึ่งความรุนแรงจะขึ้นกับ ขนาดที่ได้รับ การไหลเวียนเลือด และเอ็นไซม์ของเซลล์ส่วนใหญ่พบว่าสัตว์ได้รับผ่านระบบทางเดินอาหาร สารพิษต่าง ๆ ได้แก่

สารอนินทรีย์เคมี ก่ออันตรายเฉพาะแห่ง เช่น กรด ด่าง ก่ออันตรายทั้งระบบ เช่น โลหะหนักต่าง ๆ ได้แก่ ปรอท ตะกั่ว มีผลต่อระบบประสาท ระบบทางเดินอาหารพบการสะสมที่ตับและไตเมื่อย้อมด้วยสี acid fast จะพบ inclusion bodies แคดเมียม สารประกอบฟอสฟอรัสทำลายตับและไต พาราควอส (Paraquat) ส่งผลต่อปอดโดยตกเลือดอย่างรุนแรงในขนาดสูง หรือ ทำให้เกิดพังผืด ในขนาดเรื้อรัง สารหนู (arsenic) ทำให้เกิดเลือดออกในทางเดินอาหาร เกลือ (Salt) ทำให้เกิดสมองอักเสบชนิดมี Eosinophil เข้าแทรกในเยื่อหุ้มสมองและเนื้อสมอง ( eosinophilic meningoencephalitis) ซึ่งพบได้บ่อย ในสุกร ในสัตว์ปีกทำให้เกิดไตอักเสบ เรียกว่า Nephrosclerosis of poultry บางครั้งอาจเป็นโรคจากการกระทำของการบำบัด เรียกว่า Iatrogenic disease ซึ่งเป็นผลข้างเคียงของสารนั้น

สารอินทรีย์เคมี ได้แก่ ยาฆ่าแมลง ยาเบื่อหนู (dicoumarin) ทำให้เกิดตกเลือดเป็นบริเวณกว้าง โดยไปกดการสร้าง Prothrombin, Coagulating factor VII, IX และ X ซึ่งช่วยในกระบวนการแข็งตัวของเลือด Strychnine มีผลต่อระบบประสาท ยากันบูด ฯลฯ

สารพิษจากสิ่งมีชีวิต ได้แก่สารพิษในสัตว์ จุลชีพ และสารอัลคาลอยด์ในพืชบางชนิด

- สารพิษจากสัตว์ เช่น พิษงู มีผลทำลายระบบประสาท ระบบเลือดและการแข็งตัวของเลือด (Coaggulation system ) การเกิดเนื้อตายของกล้ามเนื้อ

- สารพิษจากแบคทีเรีย เช่น Endotoxin ของเชื้อแบคทีเรียแกรมลบ มีผลต่อระบบการไหลเวียนเลือด ส่วน Soluble exotoxin จะทำลายผนังเซลล์ หรือทำให้เมตาบอลิสมของเซลล์เสียไป เช่น Exotoxin ของ Clostridium tetani ซึ่งจะทำให้เม็ดเลือดแดงแตก และ Neurotoxin ทำให้เกิดการชัก (Tetanospasm)

- สารพิษจากเชื้อรา เช่น Aflatoxin (Aspergillus flavus ) ทำให้เกิดเนื้อตายที่ตับ (Hepatic necrosis) ได้ถ้าได้รับในปริมาณมาก หรือ Sporodesmin (Pithomyces umchatar ) ทำให้เกิดตับวาย (Hepatic failure) ซึ่งมีผลทำให้เกิดการแพ้แสง (Photosensitivity disease ) ตามมาได้ เช่น การเกิด Facial eczema ในแกะ และโค ในนิวซีแลนด์

- สารพิษจากพืช เช่น Pyrrolizidine alkaloid ซึ่งทำให้เกิด ตับแข็ง (Cirrhosis) หรือ Thiaminases ใน Blacken fern จะทำลายไต ในสัตว์เคี้ยวเอื้อง เป็นต้น

- สารพิษจากยา (Drug toxicity ) เช่น Sulfonamides ทำลายระบบภูมิคุ้มกันและ มีผลต่อไต เป็นต้น

Host response : ร่างกายสัตว์ไม่มีความต้านทานหรือปฏิกิริยาต่อสารพิษมากนัก อาจพบปฏิกิริยาได้เฉพาะแห่ง เช่น เยื่อบุที่สัมผัสสารพิษ โดยเกิด acute catarrhal หรือ hemorrhagic inflammation, edematous หรือ serous exudate ของเยื่อบุกระเพาะอาหารและลำไส้ชั้นลึก รวมทั้งเยื่อยึดลำไส้ด้วย ส่วนสารที่เป็นพิษต่อตับและไต อาจเกิด hyperplasia ของเซลล์ เพื่อทดแทนเซลล์เดิมที่ตายไป และเกิดเนื้อเยื่อพังผืด( fibrous proliferation) ซึ่งเป็น reaction และ repair ตามมาภายหลัง

สาเหตุจากอาหาร (Nutritive disease )

เกิดจากการขาดอาหาร (Nutritional deficiency ) เกิดได้จาก

- การขาดสารอาหารหนึ่งหรือหลายอย่าง( starvation) 

- ภาวะการรบกวนการนำอาหารเข้าสู่ร่างกาย เช่น ทางเดินอาหารอุดตัน โรคในช่องปากและทางเดินอาหาร เป็นต้น 

- การรบกวนการดูดซึมสารอาหาร เช่นลำไส้บีบตัวมากเกินไป ความบกพร่องของระบบดูดซึมอาหาร สารประกอบที่ร่างกายไม่สามารถดุดซึมได้

- โรคของต่อมไทรอยด์ ซึ่งทำให้การเก็บและนำสารอาหารบางชนิดถูกรบกวน เช่นการขาด ไอโอดีน

- ร่างกายเกิดภาวะการสูญเสียแร่ธาตุ เช่นท้องเสีย โปแตสเซียม ขาดแคลเซี่ยม ฟอสฟอรัส ในโรคไต

- ร่างกายขาด เหล็ก ทองแดง การขาดวิตามิน ทำให้เกิดภาวะโลหิตจางได้

ภาวะทุพโภชนาการ (Nutritional imbalance) หรือเกิดจากได้รับอาหารพลังงานไม่เหมาะสม (Protein/calorie malnutrition) ซึ่งทำให้เกิด loss of body fat, muscle wasting, anemia, fatty degeneration , skin lesion, ketosis ร่างกายเป็นกรดจากสารคีโตน ส่งผลกระทบต่อการรับรู้ของสมอง เกิด brain coma และตายได้ในที่สุด

สาเหตุจากพันธุกรรม ( Genetic disease )

แบ่งเป็น 3 ลักษณะ คือ

- Disease due to abnormalities of chromosomal structure of function

เกิดจากโครงสร้างของโครโมโซมเปลี่ยนไปจากการจัดเรียงตัวไม่สมบูรณ์ หรือแตกทำลาย เช่น เกิดล่อจากการนำม้าผสมกับลา

- Disease related to mutant genes of large effect ( Mendelian disorder )

เช่น การเกิด Trisomy ในโคพบว่าขากรรไกรสั้น (shot jaw ) ทำให้หน้าสั้นลงจึงเรียกว่า Brachygnathia (Brachygnathia trisomy syndrome ), X monosomy ในม้า รังไข่ไม่มี follicle มดลูกเล็ก , Free-martin (female genital hypoplasia ) แฝดผู้เมียที่มีระบบไหลเวียนเลือดเชื่อมกัน ทำให้ฮอร์โมนเพศผู้กดการเจริญของอวัยวะเพศเมียของแฝดตัวเมีย

- Dominance and recessive ได้แก่

1. Autosomal recessive เช่น Chrondrodysplasia

2. Sex-linked heterozygous เช่น Hemophilia ที่ถ่ายทอดจากแม่สู่ลูกชายเท่านั้น

3. Glucose-6-Phosphate dehydrogenase deficiency ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม

4. Sickle cell anemia ในคน เม็ดเลือดแดงอายุสั้นลงและแตกง่าย ทำให้เกิดภาวะโลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงแตก (Hemolytic anemia ) ได้

สาเหตุจากสิ่งมีชีวิต (Biological causes )

- ไวรัส โดยการทำลายระบบการสร้างโปรตีนของ Host เกิด proliferation ของผิวหนัง ได้แก่ Poxvirus,เกิดตุ่มน้ำพุพอง โดย herpesvirus, เกิด inclusion bodies โดย adenovirus

- โปรคารีโอติก (Prokaryotic pathogen ) เช่น Rickettsia, Coxiella burnetii, Ehrlichiosis , Mycoplasmas, Chlamydiae, Spirochete

- แบคทีเรีย หรือ เชื้อรา หรือ โปรโตซัว หรือ พยาธิต่าง ๆ หรือ แมลง เป็นต้น

สาเหตุจากสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ทำให้เกิดโรคได้โดย

    1. ทำให้ระคายเคืองหรืออุดตัน
    2. สร้างสารพิษ หรือ ท็อกซิน
    3. ทำให้เกิดภาวะภูมิแพ้
    4. ทำให้เกิดความไม่สมดุลของฮอร์โมนภายในร่างกาย

 การติดต่อของโรค (Mode of Transmission )

อาจเกิดขึ้นได้ 2 ทาง คือ

1. Horizontal transmission (Lateral transmission ) หมายถึง การถ่ายทอดสิ่งก่อโรคจากตัวหนึ่งไปยังอีกตัวหนึ่ง การติดต่อทางตรง จากการสัมผัสโดยตรง และการติดต่อทางอ้อม โดยผ่านพาหะ (Vector )

2. Vertical transmission หมายถึงการติดต่อหรือถ่ายทอดสิ่งก่อโรคจากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง เช่น การติดต่อโดยการผ่านไข่ หรือผ่านมดลูก ( In ovo / in utero ) หรือเป็นการติดต่อจากแม่สู่ลูก ( Congenital transmission )

การตอบสนองต่อสิ่งเกิดโรคของเจ้าบ้าน จึงอาจบ่งบอกถึงความรุนแรงได้ ถ้าเกิดโรค เช่นความเจ็บป่วยธรรมดา ( Sick )  โรคที่แสดงอาการหรือแฝงอยู่ โดยจำแนกได้เป็น โรคที่แสดงอาการ (Clinical disease ) โรคที่แสดงอาการไม่ชัดเจน (Subclinical disease ) และการแฝงโรคหรือ อมโรค

Clinical disease การแสดงอาการของโรคจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงทั้งการทำหน้าที่ และโครงสร้างร่างกายจึงจำเป็นต้องพยายามปรับเข้าสู่สมดุล (Homeostasis ) เป็นเหตุให้เกิดความเจ็บปวด (Pain ) ไม่สบาย (Discomfort ) หรือเกิดความเครียด (Mental stress ) จึงทำให้ป่วยไข้และแสดงอาการออกมา (Clinical signs ) เช่น ไม่กินอาหาร นอนซึม หงอยเหงา ท้องเสีย หายใจแรงเร็ว โดยอาจเกิดแบบเฉียบพลันหรือ เรื้อรังก็ได้

Subclinical disease มีเพียงลักษณะบางอย่างที่บอกถึงความผิดปกติ เช่นปริมาณน้ำนมลดในแม่โค ซึ่งอาจสงสัยได้ว่าเกิดเต้านมอักเสบขึ้น หรือการไม่เจริญเติบโตในลูกสัตว์ เนื่องจากมีภาวะปอดบวม หรือขาดสารอาหาร หรืออาจเกิดจากหลายสาเหตุร่วมกัน การตรวจวินิจฉัยจึงอาศัยการตรวจอย่างละเอียดทางคลินิกและตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อช่วยวินิจฉัย ซึ่งต่อมาอาจเกิดโรคเรื้อรัง (Chronic diseases) ขึ้น หรืออาจเข้าสู่ระยะแฝง (Latent peroid / latent infection ) หรือเป็นตัวอมโรค (Carrier state ) โดยสัตว์ไม่แสดงอาการป่วย แต่สามารถขับเชื้อออกมาได้ เช่น Salmonella spp., Herpesvirus ซึ่งถ้าสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงร่วมกับภาวะภูมิคุ้มกันของสัตว์บกพร่อง ก็สามารถก่อโรคขึ้นได้