การปฐมพยาบาลสุนัข

อุบัติเหตุหรือความเจ็บไข้ได้ป่วยมักเกิดขึ้นได้เสมอ ผู้เลี้ยงจึงควรเรียนรู้วิธีปฐมพยาบาลเพื่อช่วยชีวิตสุนัข ก่อนที่จะนำไปหาสัตวแพทย์ อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับสุนัขบ่อยๆ ได้แก่ ถูกรถชน ก้างปลาหรือเศษกระดูกตำเหงือกตำบาก กินยาเบื่อ ยาพิษ ถูกแมลงต่อย ถูกไฟฟ้าช็อต รวมถึงความเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ ที่พบเห็นประจำคือ เป็นไข้ ซึม เบื่ออาหาร อาเจียน ท้องเสีย ท้องร่วง ฯลฯ

          การห้ามเลือด นิสัยซุกซนมีในสุนัขทุกตัว บางครั้งจึงเป็นเหตุให้เกิดบาดแผล ถึงไม่เพราะเหตุซุกซน ก็อาจเกิดจากโรคภัยไข้เจ็บ เช่น ลำไส้อักเสบ ถ่ายเป็นเลือด สิ่งที่ต้องทำคือ การห้ามเลือด

          ถ้าเลือดไหลภายนอกเนื่องจากเป็นแผลด้วยสาเหตุอันใดก็ตาม ก็ควรจะห้ามเลือด และป้องกันเชื้อโรคเข้าบาดแผล ด้วยการล้างแผลด้วยสบู่และน้ำ การห้ามเลือดทำได้ตั้งแต่ใช้วิธีกดบริเวณที่มีเลือดไหลออกมาด้วยผ้าก๊อช หรือผ้าสะอาดสักพักหนึ่ง ถ้าแผลไม่ลึกหรือใหญ่เกินไปเลือดก็จะหยุดเอง ถ้าแผลเกิดบริเวณช่วงลำตัวหรือหัว มีเลือดออกมา ก็ใช้ผ้าก๊อชกดปากแผลหรือพันรัดให้แน่น รีบนำส่งหมอทันที เพราะสาเหตุดังกล่าวอาจเกิดจากการฉีกขาดของอวัยวะภายใน ถ้าเป็นแผลเลือดออกในส่วนที่เป็นขาหรือเท้าต้องใช้วิธีขันชะเนาะ โดยใช้เชือกหรือผ้าพันแผลเหนือบาดแผล แล้วสอดดินสอหรือไม้ ควั่นเชือกให้ตึงจนเลือดหยุดไหล แต่อย่าลืมคลายชะเนาะทุกๆ 10 นาที เพื่อให้เลือดมาเลี้ยงส่วนที่ถูกขันชะเนาะ มิฉะนั้นจะทำให้เนื้อส่วนนั้นตาย

          สุนัขที่ปัสสาวะเป็นเลือด ถ่ายเป็นเลือด อาเจียนเป็นเลือด เหงือกซีดมาก อาหารเหล่านี้แสดงว่ามีเลือดตกใน หรือสาเหตุอาจมาจากแผลในกระเพาะ โรคบิด หรือสารพิษบางชนิด ซึ่งต้องนำส่งหมอทันที อย่ารักษาเอง

          กระดูกหัก เมื่อเกิดอุบัติเหตุ สุนัขอาจเกิดกระดูกหัก ซึ่งอาจมีบาทแผลหรือไม่มีก็ได้ เช่น กระดูกหัก กระดูกเคลื่อน ขาหักและทิ่มแทงทะลุออกข้างนอก หรือกระดูกซี่โครงหักทิ่มแทงอวัยวะภายใน แต่ที่พบมากคือกระดูกขาหักซึ่งต้องทำการปฐมพยาบาลก่อนส่งสัตวแพทย์ โดยการเข้าเฝือก เฝือกอาจใช้วัสดุที่หาได้ง่าย เช่น กระดาษหนังสือพิมพ์นำมาม้วนเป็นท่อน ดินสอ ปากกา ท่อนไม้ กิ่งไม้ นำมาดามกับขาส่วนที่หักทั้งสองด้าน แล้วมัดด้วยเชือกหรือผ้าตอนหัวหรือท้ายพอประมาณ อย่าให้แน่นหรือตึงเกินไปจนเลือดไหลไปมาไม่ได้ มัดพอไม่ให้เกิดความขยับเขยื้อนของกระดูกส่วนทีหัก และไม่ควรไปจัดกระดูกให้เข้าที่ถ้าไม่รู้วิธีทำเพราะจะเกิดผลร้ายมากกว่าผลดี ถ้าหากกระดูกหักทะลุออกนอกเนื้อ ก็ให้ใช้ยาใส่แผลสด แล้วใช้ผ้าก๊อชสะอาดปิดปากแผลไว้ชั่วคราว พร้อมกับดามกระดูกส่วนที่หักตามปกติ จึงนำส่งสัตวแพทย์

          ถูกรถชน อุบัติเหตุสุนัขถูกรถชนพบได้บ่อยๆ ทำให้เกิดบาดเจ็บตั้งแต่ ถลอก ช้ำ จนถึงกระดูกหัก ขาหัก กล้ามเนื้อฉีกขาด ตับแตก ซึ่งก็แล้วแต่ชนิดของรถที่ชนและความเร็วของรถ

          เมื่อสุนัขถูกรถชนหรือทับ สุนัขจะมีความเจ็บปวดมาก อาจถึงกับช็อค ซึ่งจะทำให้ไม่รับรู้กับสิ่งแวดล้อม จะดิ้นรน ร้องข่วน และกัดคนที่อยู่ใกล้ทุกคนแม้แต่เจ้าของผู้ใกล้ชิด ดังนั้นเมื่อประสบเหตุดังกล่าว ผู้ที่ต้องเข้าไปช่วยเหลือจะต้องระมัดระวัง จับต้องช้าๆ และเบาๆ นุ่มนวล เพื่อทำให้สุนัขสงบ แล้วทำการมัดปากป้องกันการกัด ห้ามเลือดหรือเข้าเฝือกชั่วคราว ถ้าสุนัขช็อคก็ควรกำจัดสาเหตุและทำการป้องกันการช็อค การตรวจดูว่าสุนัขกระดูกหักหรือไม่ จะทราบได้จากเมื่อคลำจับตรงกระดูกหักสุนัขจะร้องแสดงความเจ็บปวด ถ้ามีเลือดไหลให้ห้ามเลือด ใช้ผ้าคลุมตัวสุนัขให้อบอุ่น อย่าขยับเขยื้อนสุนัขโดยไม่จำเป็น แต่ถ้าจำเป็นต้องอุ้มเพราะสุนัขอยู่กลางถนน หรือเพื่อนำไปส่งหมอ การอุ้มต้องอุ้มให้แขนทั้งสองข้างอยู่ระหว่างขาสุนัขทั้งสี่ขาพร้อมๆ กัน ให้หลังตรง หัวและคอไม่ตก ถ้าสุนัขขนาดใหญ่ ควรใช้ผ้าผืนใหญ่ปูแล้วใช้คนสองคนจับมุมผ้ายก หรือใช้แผ่นไม้แข็งรองตัวแล้วยกแผ่นไม้

          การทำแผล บาดแผลเกิดขึ้นได้ด้วยสาเหตุร้อยแปดพันประการ ที่พบบ่อยคือถูกของมีคมบาด กัดกัน ถูกทำร้ายจากคน จะเป็นแผลด้วยสาเหตุใด หรือแผลเล็กใหญ่แค่ไหน การทำแผลเหมือนกันคือ ทำการห้ามเลือดให้หยุดออกตามวิธี ทำความสะอาดบาดแผลโดยการตัดขนรอบๆ บาดแผลออก เพื่อให้เห็นแผลได้ชัดเจน แล้วล้างบาดแผลด้วยน้ำสะอาดหรือน้ำสบู่ ตรวจดูว่ามีสิ่งแปลกปลอมหลงเหลืออยู่ในบาดแผลหรือไม่ เช่น พวกเศษแก้ว กรวด หิน ดิน ทราย ถ้ามีให้เอาออกให้หมด ใช้ผ้าสะอาดซับแผลให้แห้ง อาจใช้ยาฆ่าเชื้อโรคหรือแอลกอฮอล์เช็ดแผลอีกครั้งก่อนใส่ยาสำหรับแผลสด เช่น ทิงเจอร์ไอโอดีนหรือยาแดง ถ้าแผลลึกอย่าใช้สำลีชุบทิงเจอร์ไอโอดีนจนชุ่มยัดแผล เพราะจะทำให้แผลไหม้ และอย่าใช้ยาที่เป็นพิษใส่แผล เพราะสุนัขชอบเลียแผล อาจทำให้สุนัขได้รับอันตราย เมื่อใส่ยาแล้วให้ใช้ผ้าก๊อชที่สะอาดปิดปากแผล และปิดทับด้วยปลาสเตอร์ชนิดเหนียวเพื่อป้องกันผ้าก๊อชหลุด แผลจะได้สะอาดอยู่เสมอ หลังจากนั้นก็ให้รีบส่งสัตวแพทย์หรือรักษาต่อไป

          อาเจียน สาเหตุของการอาเจียนในสุนัขมีหลายอย่าง เริ่มตั้งแต่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดไปทำให้เกิดการระคายเคืองในบริเวณลำคอ เช่น เศษกระดูก เศษอาหารติดค้างในลำคอ, กินอาหารมากเกินไป เร็วไป หรืออาหารเป็นพิษ, กินยาพิษ สารพิษพวกยาเบื่อหนู เบื่อแมลง หรือเกิดจากโรคต่างๆ เช่น โรคติดเชื้อ, โรคที่เกิดจากความสมดุลของร่างกาย เช่น ความเป็นกรดเป็นด่างในกระแสเลือดมากไป, โรคตับอักเสบ, โรคลำไส้อักเสบ, โรคกระเพาะ หรือแม้แต่โรคที่เกี่ยวกับประสาท ที่เกิดจากทั้งร่างกายและจิตใจ เช่น ถูกทอดทิ้ง ถูกดุด่าและความเครียด เหล่านี้เป็นต้น

          เมื่อเห็นว่าสุนัขอาเจียน ควรสังเกตดูว่ามีลักษณะเช่นไร เช่นสังเกตดูว่าสิ่งที่อาเจียนออกมานั้นมีลักษณะอย่างไร มีอาหารหรือสิ่งอื่นใดออกมาจากกระเพาะ อาเจียนมากน้อยถี่ห่างแค่ไหน เพื่อที่จะได้เป็นข้อมูลหาสาเหตุของการอาเจียน และบอกเล่าให้หมอวินิจฉัยโรคได้สะดวก การปฐมพยาบาลเบื้องต้น ถ้าสุนัขอาเจียนโดยไม่มีอาการอย่างอื่น ก็ควรงดการให้อาหารและน้ำ เพื่อให้ระบบย่อยอาหารได้พักตัว ไม่มีสิ่งใดไปกระตุ้นการอาเจียนอีกหากสุนัขกระหายน้ำมาก ก็อาจให้เลียก้อนน้ำแข็ง หรือกินน้ำเล็กน้อย หรือถ้าหิวมากก็ให้กินไข่ขาวซึ่งตีเป็นน้ำเหลวครั้งละ 1 ช้อนชา ทุกๆ 20-30 นาที จนกว่าจะทุเลา แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้นก็ให้รีบนำส่งสัตวแพทย์

          กินยาเบื่อยาพิษ สุนัขอาจกินยาเบื่อยาพิษเข้าไปด้วยอุบัติเหตุหรือคนร้ายโยนให้กิน ถ้าผู้เลี้ยงอยู่ไกลที่จะให้สัตวแพทย์ช่วยได้ทัน ก็ควรจะปฐมพยาบาลขั้นต้นก่อนได้ อาการของสุนัขที่กินยาพิษเข้าไปได้แก่ ปวดท้อง หอนหรือเห่า ร้องโอ๊ก หรือร้องหงิงๆ กล้ามเนื้อสั่น อาเจียน หายใจลำบาก ชัก ขั้นตอนที่ควรปฏิบัติเมื่อสุนัขกินยาเบื่อยาพิษคือ ขั้นแรกทำให้สุนัขอาเจียนขจัดเอาสารพิษในตัวออกก่อน โดยการให้น้ำอุ่นละลายเกลือ แล้วกรอกใส่ปากสัก 1-2 ลิตร น้ำเกลือจะไปกระตุ้นให้สุนัขอาเจียน สำรอกเอาเศษยาเบื่อยาพิษออกมาได้บ้าง จากนั้นจึงทำการดูดซับสารพิษที่ยังหลงเหลืออยู่ไม่ให้ซึมเข้ากระแสโลหิต โดยการใช้ถ่านนำถ่านมาตำให้ละเอียด 1-2 กำมือ พร้อมกับน้ำต้มครึ่งลิตร คนให้เข้ากันดี กรอกให้สุนัขกินจนหมด ถ้าไม่มีถ่านจะใช้ไข่ขาว 2-4 ฟอง กรอกให้กิน

          ถ้าสุนัขกินอาหารที่บูดเน่า สุนัขจะมีอาการท้องเดินอย่างแรง บางครั้งมีเลือดปนอุจจาระ อาเจียน เจ็บบริเวณท้อง อ่อนเพลีย ก็ให้กินไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ 1 ช้อนโต๊ะ ผสมกับน้ำ 2 ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำหนักสุนัข 5 กิโลกรัม เมื่ออาการปกติแล้วควรให้กินยาระบาย เพื่อขับถ่ายพิษที่เหลือต่อไป

          ปวดท้อง ท้องผูก ถ้าสุนัขกินของแข็ง เช่น แก้ว กระดูก ถ่าน โลหะหรือของเด็กเล่นต่างๆ เข้าไปในท้อง ก็จะทำให้ปวดท้อง อย่าให้กินยาถ่าย แต่ให้ยาแก้ปวด เช่น ยาพวกบาริบิทูเรต และ กินอาหารที่มีลักษณะเหนียวๆ เละๆ เช่น ข้าวเหนียว หรือข้าวโพดเปียก หรือแป้งเปียก เพื่อให้ไปหุ้มวัตถุแข็งเหล่านั้นเสีย แล้วทำให้ลื่นผ่านทางเดินอาหารไปได้ ต่อจากนั้นจึงค่อยให้กินยาถ่าย และต้องกินอาหารอ่อนๆ อีกหลายวัน

          ถ้าปวดท้องเพราะอาเจียน ก็ควรประคบด้วยการวางถุงยางหรือขวดใส่น้ำร้อนตามบริเวณกระเพราะ ซึ่งอยู่ตรงปลายกระดูกซี่โครงของด้านซ้าย สุนัขถ้าปวดท้องแบบเสียดท้องนั้น จะบรรเทา อาการปวดได้ด้วยการให้น้ำหรือน้ำนม 1 ช้อนชา ถ้าปวดมากๆ จะให้บรั่นดี 1-2 ช้อนชา หรือเอาน้ำร้อนวางบริเวณที่ปวดเพื่อบรรเทาอาการ

          แต่สำหรับสุนัขที่ท้องผูกโดยไม่มีอาการอย่างอื่น ควรใช้ยาเหน็บที่มีกลีเซอรีน หรือสบู่ที่ใช้สำหรับคนก็ได้ หรือจะใช้สวนทวารด้วยเครื่องสวรทวารที่ใช้สำหรับเด็ก โดยใช้น้ำสบู่หรือน้ำเกลือขับเข้าไปทางทวาร ถ้าเห็นว่าอาการไม่บรรเทาก็ควรพาไปหาสัตวแพทย์

          ท้องเสีย เกิดขึ้นได้บ่อยครั้งหนักเบาแตกต่างกันไป บ้างก็ถ่าวเหลวเป็นน้ำ เป็นมูกเลือด จนถึงออกมาเป็นเลือกสดๆ สาเหตุก็สุดแท้แต่ว่าจะเกิดจากได้รับเชื้อชนิดใดมา เช่น พาโวไวรัส, โปรโตซัว หรือเชื้อแบคทีเรียพวก อี.โคไล หรือแม้แต่สาเหตุที่ไม่ใช่จากเชื้อดังกล่าว แต่เพราะการเปลี่ยนอาหารทันทีทันใด เช่น จากอาหารสดๆ อาหารธรรมชาติมาเป็นอาหารสำเร็จรูป มักจะทำให้เกิดการท้องเสียหรือถ่ายเหลวกว่าปกติ บางคราวเกิดจากความเครียด ก็ทำให้เกิดอาการท้องเสียได้

          เมื่อสุนัขท้องเสีย ให้งดอาหารที่ให้ตามปกติลงชั่วคราว แล้วให้ยาแก้ท้องเสียของคนเพียงเล็กน้อยเพื่อบรรเทาอาการ ถ้าเป็นมากจนตาลึกโหลเพราะเสียน้ำมาก ก็ให้ป้อนน้ำผสมเกลือแร่เช่นเดียวกับที่ใช้ในเด็ก ให้กินที่ละน้อยๆ เพื่อบรรเทาอาการก่อนพาไปหาหมอ อย่าลืมสังเกตว่าอุจจาระมีลักษณะเช่นไร ถ่ายบ่อยครั้งแค่ไหน เพื่อที่จะให้บอกหมอถูก

          อาหารติดคอ เศษอาหารหรือกระดูก หรือก้างปลา อาจจะตำหรือติดคอสุนัขได้บ่อยๆ อันที่จริงส่วนใหญ่แล้วเศษกระดูก ดังกล่าวมักจะติดขวางอยู่ในส่วนปากระหว่างฟันบนทั้งสองข้าง โดยแนบติดกับเพดานปากมากกว่าส่วนลำคอโดยตรง แต่ส่วนใหญ่จะเรียกอาหารติดคอ

          เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ ควรสงบสติอารมณ์สุนัข ให้ลดความตกใจ อยู่นิ่งๆ แล้วอ้าปากสุนัข ค่อยๆ ใช้คีมหรือนิ้วมือสอดเข้าไปในปาก เขี่ยดูบริเวณเพดานปาก หยิบก้างปลาหรือกระดูกออก แต่ถ้าสุนัขไม่ยอมอยู่นิ่ง และไม่ยอมให้จับปาก ก็ต้องพาไปหาหมอ

          แมลงสัตว์กัดต่อย บางครั้งสุนัขอาจถูกแมลงกัดหรือต่อย เช่น แมลงต่างๆ พวกตะขาบ ผึ้ง ต่อแตน แมลงป่อง รวมไปถึงสัตว์ใหญ่ๆ บางจำพวก เช่น คางคก หรืองูมีพิษ เป็นต้น ส่วนที่ถูกแมลงกัดต่อยมากที่สุดคือ ตามหน้าหรือขา หรือบริเวณที่มีขนบางๆ ถ้าสุนัขไม่แพ้ก็จะไม่มีอาการให้เห็น คือหายไปเอง แต่ถ้าสุนัขแพ้ จะเกิดอันตรายถึงตายได้ โดยจะมีอาการให้เห็น คือเกิดการบวมในบริเวณที่ถูกกัดต่อย หน้าบวมบิด แต่ถ้าแพ้มากๆ จะมีอาการกระสับกระส่าย ท้องร่วง อาเจียน ที่อันตรายมากคือหายใจไม่ออก

          การปฐมพยาบาลสุนัขที่ถูกแมลงกัดต่อยก็คือ ให้รีบดึงเหล็กในออก แล้วใช้น้ำเย็นๆ ประคบ ก่อนนำไปส่งสัตวแพทย์ ถ้าถูกงูกัดให้รีดเอาเลือดออกจากบาดแผล แล้วขันชะเนาะ เพื่อป้องกันการดูดซึมของพิษงูตามกระแสเลือดไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย

          คลั่ง อาการของโรคนี้เกิดแก่สุนัขที่ดูสมบูรณ์ โดยมัยมันจะเห่าหรือหอนดัง เร็ว วิ่งพล่านไปมา ชนสิ่งของที่ขวางหน้า อาจกระโดดออกจากประตู หน้าต่าง หรือวิ่งไปอย่างบ้าคลั่ง กัดทุกสิ่งที่ขวางหน้า อาการคลั่งเหล่านี้ไม่อาจควบคุมได้ สาเหตุของการคลั่งมีหลายอย่าง อาจเป็นโรคพิษสุนัขบ้าก็ได้ บางตัวแสดงอาการคลั่งโดยการเกาหูอย่างแรงพร้อมกับร้องอย่างโหยหวน บ้างก็เกาจนใบหูเป็นแผลเลือดไหลนอง ทั้งนี้อาจมีสาเหตุจากมีแมลงหรือเห็บเข้าไปอยู่ในหู กัดและดูดเลือด ทำให้เกิดการระคายเคืองอย่างรุนแรง เจ็บปวดเกินทน บางตัววิ่งไปร้องไปไม่หยุด อาจเพราะมาจากถูกกลั่นแกล้ง หรือถูกทำร้าย หรือตกอกตกใจสุดขีด

          เมื่อสุนัขที่เลี้ยงไว้แสดงอาการคลั่ง ถ้าคลั่งแล้วดุร้ายก็หาทางต้อนเข้ากรงปรือห้องเพื่อกักดูอาการ ห้ามไม่ให้ใครไปยุแหย่ ให้อยู่เงียบๆ รอให้สงบ ถ้าคลั่งแบบระแวงหรือตกใจ ให้เจ้าของค่อยๆ พูดปลอบประโลมด้วยน้ำเสียงที่เมตตาและเป็นมิตร การใช้คนเพื่อไปต้อนหรือปลอบควรเป็นคนเลี้ยง หรือคนที่สุนัขคุ้นเคยเป็นอย่างดี อย่าใช้คนแปลกหน้า ถ้าสัมผัสได้ ควรลูบไล้โดยแผ่วเบา อย่าเข้าหาอย่างบุ่มบ่ามหรือเสียงดังเอะอะ อย่าใช้คนแปลกหน้าเข้ามาช่วยเพราะสุนัขไม่ไว้วางใจ จะทำให้ยิ่งกลัวคลั่งเตลิดไปอีก เมื่อสุนัขสงบลงบ้างแล้วจึงพิจารณาหาทางปลดเปลื้องต้นเหตุแหล่งความคลั่งนั้นๆ ออกไป ดูว่าคลั่งเพราะอะไร เช่น บางตัวตกใจเสียงประทัด หรือมีคนเอาประทัดผูกหางจึงวิ่งหนีเตลิด บางตัวอาจถูกทำร้ายจากสุนัขร้ายตัวจึงสู้แบบบ้าคลั่ง แม้เจ้าของจะกันสุนัขอื่นออกไปแล้วก็ยังไม่หายระแวง ก็ต้องค่อยๆ หาทางปลอบ หรือบางครั้งคลั่งเพราะเจ้าของเอาปลอกคอติดลูกกระพรวนไปใส่คอให้ เมื่อไม่เคยชินมาก่อนจึงตกใจวิ่งเตลิดเปิดเปิง พยายามแคะแกะเอาออก เจ้าของจึงต้องจัดการถอดปลอกคอต้นเหตุออกเสีย เหล่านี้เป็นต้น ควรจำไว้ว่าเมื่อสุนัขเกิดอาการคลั่ง เจ้าของควรสงบอกสงบใจใช้ความคิดตริตรองหาวิธี เป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับช่วยเหลือ อย่าครั่งตาม ถ้าหากเหนือบ่ากว่าแรง ให้ปรึกษาหมอเพื่อใช้ยา หรือหาวิธีที่เหมาะสม

          ชักหรือกระตุก อาการชักในสุนัขเป็นการแสดงออกซึ่งการขาดการควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ หรือมีอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ ไม่ว่าชักมากชักน้อย โดยไม่ถึงกับหมดความรู้สึกลักษณะของการชักก็แตกต่างกันไป เช่น กล้ามเนื้อกระตุกเป็นระยะๆ เหยียดเกร็งสี่ขา ตาเหลือก ลิ้นห้อย คอพับ ฯลฯ สาเหตุของการชักมีต่างๆ กัน เช่น เป็นโรคลมบ้าหมู เนื่องจากมีความผิดปกติในสมอง ขาดธาตุแคลเซียม หรือแคลเซียมในโลหิตต่ำลง เช่น กรณีแม่สุนัขเลี้ยงลูกจำนวนมากๆ ความกระทบกระเทือนในสมอง เช่น ถูกตีที่หัว ไข้สูงมากๆ เป็นโรคจิตประสาท มีพยาธิในหูหรือกินสารพิษบางชนิด ก็ทำให้เกิดอาการชักได้

          เมื่อเห็นสุนัขมีอาการกระตุกหรือชัก ก็ควรจับสุนัขไว้ อย่าให้ได้รับอันตราย แล้วนำไปไว้ในที่เงียบๆ พยายามควบคุมอย่าให้หัวของสุนัขไปฟาดกับสิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะขณะชักสุนัขจะไม่รู้ตัว ทรงตัวไม่อยู่และเหวี่ยงหัวไปมา หาทางใช้ผ้าม้วนเป็นก้อนยัดระหว่างฟันกรามเพื่อป้องกันสุนัขกัดลิ้นตัวเอง แต่ต้องระวังสุนัขอาจสำลักเอาอาหารหลุดลงไปหลอดลม ทำให้หายใจไม่ได้ การใช้น้ำแข็งหรือผ้าชุบน้ำเย็นจัดวางบนหัว ตามตัว และนวดบีบที่หัวและคอ จะทำให้อาการคลายลง ก่อนนำไปส่งสัตวแพทย์

          ช็อค สุนัขจะมีอาการช็อคดังนี้คือ นอนไม่รู้สึกตัว ลิ้นซีด เหงือกซีด ตัวเย็นเฉียบ โดยเฉพาะส่วนขาบริเวณปลายเท้าอ่อนแรงลง หายใจถี่เร็ว หมดความรู้สึกและตายในที่สุด

          สาเหตุของสุนัขช็อคมีมากมาย แต่ที่พบเป็นส่วนใหญ่ก็คือ เนื่องจากปริมาณเลือดลดลงเพราะตกเลือด เสียเลือด ขาดน้ำหรือกระทบกระเทือนต่างๆ นอกจากนี้การช็อคอาจสืบเนื่องมาจากพิษของเชื้อโรคจำนวนแบคทีเรียที่หลุดเข้าไปในกระแสเลือด ซึ่งสามารถทำให้สุนัขแสดงอาการช็อคเช่นเดียวการเสียเลือดได้

          เมื่อเห็นว่าสุนัขมีอาการช็อค สิ่งที่ต้องปฏิบัติคือ แก้ปัญหาต้นเหตุของการช็อค เช่น เสียเลือดก็ต้องห้ามเลือด ช่วยการไหลเวียนของโลหิต เช่น จับทำให้สุนัขนอนหัวต่ำกว่าลำตัว เลือดจะสามารถไปเลี้ยงได้ดีขึ้น พร้อมทั้งนวดเฟ้นส่วนปลายขา ข้อเท้า ถ้าพบว่าสุนัขอยู่ในอาการเหงือกซีด ตัวเย็น ก็ให้จัดหาผ้าห่มมาห่มให้เกิดความอบอุ่น หากสุนัขยังพอรู้ตัวบ้าง อาจป้อนน้ำที่ผสมน้ำตาลหรือกลูโคสให้กินทีละน้อย เพื่อเป็นการให้พลังงานเฉพาะหน้า จากนั้นรีบนำส่งหมอ