" กรรม "


- คนส่วนมากยังมีความเชื่อว่ามีผู้ดลบันดาล เช่น ดลบันดาลให้เกิดภัย ดลบันดาลให้เกิดโชคลาภ เป็นต้น แต่ทางพระพุทธศาสนาได้แสดงว่า คนมีกรรมเป็นของตน จะมีสุขหรือทุกเพราะกรรม ก็เปลี่ยนให้คนมากลัวกรรมกันอีก เช่นเดียวกับที่เคยกลัวผู้ดลบันดาล เมื่อคิดถึงก็คิดเห็นไปคล้ายกับเป็นตัวทุกข์มืด ๆ อะไรอย่างหนึ่งที่น่าสะพึงกลัว ผู้เงือดเงื้อจะลงโทษ กรรมจึงคล้ายผู้เคราะห์ร้ายที่ถูกเข้าใจในทางร้ายอยู่เสมอ เมื่อได้ดีมีสุขก็กลับกล่าวว่าเป็นบุญบารมี กรรมจึงไม่มาเกี่ยวในทางดีตามความเข้าใจของคนทั่วไป

นอกจากนี้ คนจะทำอะไรในปัจจุบันก็ไม่ได้นึกถึงกรรม เพราะเห็นว่ากรรม ไม่เกี่ยว กรรมจึงกลายเป็นอดีตที่น่ากลัว ที่คอยจะให้ทุกข์เมื่อไรก็ไม่รู้ ซึ่งไม่สามารถจะป้องกันได้เท่านั้น ดูก็เป็นเคราะห์กรรมของกรรมยิ่งนักที่ถูกคนเข้าใจไปเช่นนี้ อันที่จริงพระพุทธศาสนาได้สอนให้คนเข้าใจในกรรมเช่นนี้ไม่ ไม่ได้สอนให้คนกลัวกรรม เป็นทาสของกรรม หรืออยู่ใต้อำนาจกรรม แต่สอนให้รู้จักกรรม ให้มีอำนาจเหนือกรรม ให้ควบคุมกรรมของตนในปัจจุบัน

“ กรรม” คือ กาลอะไรทุกอย่างที่คนทำอยู่ทุกเวลา ประกอบด้วยเจตนา คือ ความจงใจ ทุกคนจะทำอะไร จะพูดอะไร จะคิดอะไร ย่อมมีเจตนาคือ ความจงใจนำอยู่ก่อนเสมอ และในวันหนึ่งก็ต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ ต้องพูดอย่างนั้นอย่างนี้ ไปตามที่ตนเองจงใจจะพูด จะทำ จะคิด นี่แหละคือกรรม วันหนึ่ง ๆ จึงทำกรรมมากมายหลายอย่าง หลีกกรรมไม่พ้น พระพุทธศาสนาสอนเรื่องกรรม

หลักใหญ่ก็มุ่งให้พิจารณาให้รู้จักปัจจุบันกรรมของตนนี้แหละว่า “ อะไรดีอะไรชั่ว อะไรควรไม่ควร เพื่อที่จะได้เว้นกรรมที่ชั่วที่ไม่ควร เพื่อที่จะทำกรรมที่ดีที่ควร “ และพระพุทธเจ้ายังได้ตรัสไว้ว่า “บุคคลสามารถจะละกรรมที่ชั่วทำกรรมที่ดีได้” จึงได้ตรัสสอนไว้ให้ละกรรมที่ชั่ว ทำกรรมที่ดี ถ้าไม่เช่นนั้นก็ไม่ตรัสสอนไว้ และการละกรรมชั่วทำกรรมดีถ้าให้เกิดโทษทุกข์ ก็จะไม่ตรัสไว้อย่างนี้ แต่เพราะให้เกิดประโยชน์สุข จึงตรัสสอนไว้อย่างนี้ พระพุทธโอวาทนี้แสดงว่า คนมีอำนาจเหนือกรรม อาจควบคุมกรรมของตนได้ แต่ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่าต้องควบคุมจิตเจตนาของตนได้ด้วย โดยตั้งมั่นแน่วแน่อยู่ในธรรม เช่น เมตตา สติ ปัญญา สัจจาธิษฐาน เป็นต้น อันเป็นส่วนจิตและศีล อันหมายถึง ตั้งเจตนาเว้นการที่ควรเว้น ทำการที่ควรทำในขอบเขตอันควร

ที่ว่า คนมีอำนาจเหนือกรรมปัจจุบัน ด้วยการควบคุมจิตเจตนาให้เว้นหรือทำกรรมอะไรก็ได้นั้น ถ้าพูดเพียงเท่านี้ก็ดูไม่มีปัญหา แต่ถ้าพูดถึงกรรมอดีตที่จะส่งผลให้ในปัจจุบัน ก็เกิดปัญหาขึ้นอีกสำหรับผู้ที่เชื่อในอดีตชาติว่า กรรมที่ทำให้ในอดีตชาติจะส่งผลให้ในชาตินี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น จึงกลัวอำนาจของกรรมอดีต เหมือนอย่างกลัวอำนาจมืดที่จะมาทำร้ายเอาแน่ ในเรื่องนี้ พระพุทธศาสนาแสดงไว้อย่างไรสมควรจะพิจารณา

' ประการแรก พระพุทธเจ้าตรัสว่า บุคคลเป็นทายาทรับผลกรรมที่ตนได้ทำไว้แล้ว ข้อนี้เป็นกฎธรรมดาข้อมาติกา คือแม่บท ไม่มีผิดเหมือนอย่างที่คำโบรารณว่า “กำปั้นทุบดิน” แต่ยังมีกฎประกอบอีกหลายข้อเหมือนอย่างดินที่ทุบนั้น ยังมีปัญหาต่อไปอีกหลายข้อว่า ดินที่ตรงไหน เป็นต้น เมื่อกล่าวว่าดินแล้วก็คลุมไปทั้งโลก คำว่ากรรมก็ฉันนั้นคลุมไปทั้งหมดเพราะคนทุกคนทำกรรมต่าง ๆ ซับซ้อนกันมากมายเหลือเกิน กรรมอันไหนจะให้ผลเมื่อไร จึงมีกฎแบ่งกรรมออกไปอีก สรุปลงว่า กรรมหนักหรือกรรมที่ทำบ่อย ๆ ให้ผลก่อนกรรมที่เบากว่า หรือที่ทำไม่บ่อยนัก คนเรานั้นทำมาทั้งกรรมดีและกรรมชั่ว จึงมีสุขบ้างทุกบ้างสลับกันไป ผู้ที่มีสุขมากก็เพราะกรรมหนัก หรือกรรมที่ทำบ่อย ๆ ฝ่ายดีกำลังให้ผล ผู้ที่มีทุกข์มากก็ตรงกันข้าม

' และในปัจจุบันนี้ใครก็ตามมีความไม่ประมาท ประกอบกรรมที่ดีอย่างหนักหรือบ่อย ๆ กรรมดังกล่าวนี้จะสนองผลให้ก่อน กรรมชั่วในอดีตหากได้ทำไว้ ถ้าเบากว่าก็ไม่มีโอกาสให้ผล ฉะนั้น ผู้ที่ทำกรรมดีมากอยู่เสมอ ๆ จึงไม่ต้องกลัวกรรมชั่วในอดีต หากจะมีกุศลของตัวจะชูช่วยให้มีความสุขความเจริญสืบไป และถ้าแผ่เมตตาจิตอยู่เนือง ๆ ก็จะระงับคู่เวรในอดีตได้อีกด้วย ระงับได้ตลอดถึงปัจจุบัน ทั้งเมื่อได้ดำเนินในมรรคมีองค์ 8 ของพระพุทธเจ้าเพื่อความสิ้นทุกข์ ก็จะดำเนินเข้าสู่ทางที่พ้นจากกรรมเวรทั้งสิ้น พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “ตัณหาเป็นกรรม สมุทัยคือ เหตุให้เกิดกรรม มรรคเป็นทางดับกรรม ฉะนั้น จึงไม่ต้องกลัวอดีต แต่ให้ระวังปัจจุบันกรรม และระวังใจ ตั้งใจให้มั่นไว้ในธรรม ธรรมก็จะรักษาให้มีความสวัสดีทุกาลทุกสถาน”


(จาก….. “ พระพุทธศาสนา และการนับถือพระพุทธศาสนา ”
โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระ-สังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)