“ ผิดนั้นสำคัญไฉน ”


- คำว่า “ม่สบายใจ” อย่าใช้ และอย่าให้มีขึ้นในใจ ต่อไป “ let it go, and get it out “ ก่อนมันจะเกิดต้อง “ let it go “ ปล่อยให้มันผ่านไป อย่ารับเอาความไม่สบายใจไว้ ถ้าเผลอไปมันแอบเข้ามาอยู่ในใจได้ พอมีสติรู้สึกตัวว่า ความไม่สบายใจเข้ามาแอบอยู่ในใจ ต้อง get it out อย่าเลี้ยงเอาความไม่สบายใจไว้ในใจ มันจะเคยตัว ทีหลังจะเป็นคนอ่อนแอ ออดแอด ทำอะไรผิดพลาดนิด ๆ หน่อย ๆ ก็ไม่สบายใจเคยตัว

เพราะความไม่สบายใจนี้แหละเป็นศัตรู เป็นมารทำให้ใจไม่สงบ ประสาทสมองไม่ปกติ เป็นเหตุให้ร่างกายผิดปกติ พลอยไม่สงบไม่สบายไปด้วย ทำให้สมองทึบ ไม่ปลอดโปร่งแจ่มใส เป็น habit ความเคยชินที่ไม่ดี เป็นอุปสรรค กีดกั้นขัดขวางสติปัญญาไม่ให้ปลอดโปร่งแจ่มใส

ต้องฝึกหัดแก้ไขปรับปรุงจิตใจเสียใหม่ ทั้งก่อนที่จะทำอะไรหรือกำลังกระทำอยู่ และเมื่อเวลากระทำเสร็จแล้ว ต้องหัดให้จิตใจแช่มชื่นรื่นเริง เกิดปิติปราโมทย์ เป็นสุขสบายอยู่เสมอ เป็นเหตุให้เกิดกำลังกายกำลังใจ “ enjoy living ” มีชีวิตอยู่ด้วยความเบิกบาน สมองจึงจะเบิกบาน จะศึกษาเล่าเรียนก็เข้าใจง่าย เหมือนดอกไม้ที่แย้มบานต้อนรับหยาดน้ำค้างและอากาศบริสุทธิ์ ฉะนั้น

* * * * * * * * * * * * * * *

จงระลึกถึงคติพจน์ว่า ...............

“ do no wrong is do nothing “

ทำอะไรไม่ผิดเลย ก็คือไม่ทำอะไรเลย

ความผิดนี้แหละเป็นครูอย่างดี ควรจะรู้สึกบุญคุณของตัวเอง ที่ทำอะไรผิดพลาด และควรสบายใจที่ได้พบกับอาจารย์ผู้วิเศษ คือ ความผิด จะได้ตรงกับคำว่า “ เจ็บแล้วต้องจำ “ ตัวทำเอง ผิดเอง นี้แหละ เป็นอาจารย์ผู้วิเศษ เป็น “ good example “ ตัวอย่างที่ดี เพื่อจะได้จดจำไว้สังวรระวังไม่ให้ทำผิดต่อไป แล้วตั้งต้นใหม่ด้วยความไม่เลินเล่อ เผลอประมาท อดีตที่ผิดไปแล้วก็ผ่านล่วงเลยไปแล้ว แต่อาจารย์ผู้วิเศษยังอยู่ คอยกระซิบเตือนใจอยู่เสมอทุกขณะว่า “ ระวัง อย่าประมาทนะ อย่าให้ผิดพลาดเช่นนั้นอีกนะ “

" ผิดหนึ่งพึงจดไว้ ในสมอง เร่งระวังผิดสอง ภายหน้า
สามผิดเร่งคิดตรอง จงหนัก เพื่อนเอย ถึงสี่อีกทีห้า หกซ้ำ อภัยไฉน "

จงสังเกตพิจารณาดูให้ดีเถิด จะเห็นได้ว่า นักค้นคว้าวิทยาศาสตร์ทางโลกก็ดี และท่านผู้วิเศษที่เป็นศาสดาจารย์ในทางธรรมทั้งหลายก็ดี ล้วนแต่ผ่านพ้นอุปสรรคความผิดพลาด

* * * * * * * * * * * * * * * *

ที่จะทำอะไรไม่ผิดนั้น ข้อสำคัญอยู่ที่สติ ถ้ามีสติคุ้มครอง กาย วาจา ใจ อยู่ทุกขณะ จะทำอะไรไม่ผิดพลาดเลย ที่ผิดพลาดเพราะขาดสติ คือ เผลอเหม่อ เลินเล่อ ประมาท ระเริง หลงลืม จึงผิดพลาด

จงนึกถึงคติพจน์ว่า “ กุมสติต่างโล่ป้อง อาจแกล้วกลางสนาม “

ธรรมดาชีวิตทุกชนิดทั้งมนุษย์และสัตว์ ตลอดทั้งพืชพันธุ์พฤกษาชาติเป็นอยู่ได้ด้วยการต่อสู้ ตรงกับคำว่า “ life is fighting

- ชีวิต คือ การต่อสู้ “ เมื่อต่อสู้ไม่ไหวขณะใดก็ต้องถึงที่สุดแห่งชีวิตคือ “ death – ความตาย “เพราะฉะนั้นยังมีสติอยู่ตราบใด ถึงตายก็ตายแต่กาย เช่นกับพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ ท่านมีสติไพบูลย์อยู่ทุกขณะจิต ท่านจึงทำอะไรไม่ผิด และถึงซึ่งอมตธรรม คือ ธรรมที่ไม่ตาย ตรงกับคำว่า “ immortal “ จึงเรียกว่า ปรินิพพาน คือ นาม รูป สังขาร ร่างกาย ที่เรียกว่าเบญจขันธ์ ขันธ์ 5 คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แตกดับไปเท่านั้น

เพราะฉะนั้น ควรฝึกฝนสติสัมปชัญญะ เมื่อทำเสร็จแล้วก็มีสติตรวจตรา พิจารณาดูว่า บกพร่องอย่างไร หรือเรียบร้อยบริบูรณ์ดี ถ้าบกพร่องก็รีบแก้ไขให้สมบูรณ์ต่อไป ถ้าเรียบร้อยดีอยู่ก็พยายามให้เรียบร้อยดียิ่ง ๆ ขึ้นไปจนถึงที่สุด


(จากธรรมมะสอนใจของท่านเจ้าคุณนรรัตนราชมานิต วัดเทพศิรินทราวาส)