เข้าพรรษา


- ในอดีตเราถือเอาวัน แรมหนึ่งค่ำเดือน 8 ของทุกปี เป็น วันเข้าจำพรรษา ตามประเพณีพุทธบัญญัติของพุทธศาสนา พระสงฆ์ต้องอธิษฐานอยู่จำพรรษาในวัดใด วัดหนึ่งตลอดสามเดือนที่เรียกว่า “ไตรมาส” นั่นเอง นี่เป็นเรื่องที่ภิกษุสงฆ์ต้องทำจะหลีกเลี่ยงเบี่ยงบ่ายไม่ได้ มีเรื่องราวปรากฎในพระวินัยปฎก วัสสูปนายิกะ ใจความย่อว่า :

“สมัยเมื่อผ่านปฐมโพธิกาลไปแล้ว มีกุลบุตรเข้ามาบวชเป็นภิกษุมากขึ้น พระพุทธเจ้ายังมิได้ทรงบัญญัติในภิกษุจำพรรษา ถึงฤดูฝนมีน้ำขังเต็มบริเวณไร่นาทั่วไป ชาวบ้านอาศัยพื้นที่เหล่านั้นประกอบอาชีพทาง กสิกรรม พวกพ่อค้าที่มิใช่ชาวกสิกรรมต่างพักผ่อนหยุดสัญจรกันในฤดูฝนนี้ เพราะนอกจากไม่สะดวกแล้ว ยังเป็นอันตรายแก่พืชผลของชาวไร่ชาวนา

แต่ภิกษุบางจำพวกในสมัยนี้หาพักการจาริกไม่ บ้างพากันย่ำเหยียบหญ้าและสัตว์เล็กเป็นอันตราย ชาวบ้านพากันติเตียน พระพุทธองค์ทรงทราบจึงทรงบัญญัติให้ภิกษุจำพรรษาในฤดูฝน 3 เดือน นับแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ไปจนถึงวันที่ 15 ค่ำ เดือน 11 แล้วเหลือเวลาในท้ายฤดูฝนนี้ไว้ให้อีก 1 เดือน ไว้ให้เป็น “จีวรกาล” คือเวลาที่แสวงหาจีวรมาผัดเปลี่ยนของภิกษุ”

ยังมีข้อบัญญัติเพิ่มเติมอีกว่า ให้ภิกษุยึดเอาเสนาสนะอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นที่จำพรรษาให้ได้ เช่น ถ้ำหรือกุฎี ซึ่งมีที่มุงที่บังกันแดดกันฝนได้ดี และทรงห้ามไม่ให้ภิกษุสงฆ์จำพรรษาในที่ต่อไปนี้คือ ที่กลางแจ้ง ในโพรงไม้ ในหลุม ในตุ่ม บนคาคบไม้ ซึ่งจะเป็นอันตรายในฤดูฝนเช่นนั้น

การจำพรรษาด้วยการอธิษฐานจิต คือ การที่ภิกษุแต่ละรูปไปประชุมกันในอุโบสถ ทำวัตร สวดมนต์ ทำพิธีขอขมากันแล้ว แต่ละรูปจะนั่งกระโหย่งแล้วตั้งจิตอธิษฐานว่า “ข้าพเจ้าจะจำพรรษาในอารามนี้ครบ 3 เดือน” นั้นก็คือ ในระยะเวลา 3 เดือน ภิกษุผู้จำพรรษาจะไม่ไปค้างแรม ณ ที่ใดเลย จะอยู่ประจำที่ในอาราม ที่ตนอธิษฐานจิตนี้

ผ้าอาบน้ำฝน หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “วัสสิกสาฎก” คือผ้าสำหรับนุ่งในเวลาอาบน้ำฝนหรือใช้ในการอาบน้ำทั่วไป มีเรื่องเล่าว่า นางวิสาขาเป็นผู้ขออนุญาตให้พระพุทธเจ้าให้พระสงค์รับผ้าอาบน้ำฝน เพราะเธอใช้นางทาสีไปนิมนต์พระที่วัดขณะฝนตก พระสงฆ์แก้ผ้าอาบน้ำกันเต็มวัด ทาสีกลับมาบอกนางวิสาขาว่า ไม่มีพระมีแต่ชีเปลือยเต็มวัด วิสาขารู้ทันทีจึงได้กราบทูลพระพุทธองค์ให้ทรงอนุญาตผ้าอาบน้ำฝนดังกล่าวแล้ว

การถวายเทียนพรรษา ปกติประเพณีที่เกี่ยวกับเทียนหรือขี้ผึ้งนี้ ได้สืบกันมาแต่สมัยพุทธกาลแล้ว โดยเริ่มแต่สมัยที่พระพุทธองค์ได้เสด็จเข้าสู่ป่า หนีความทะเลาะวิวาทของภิกษุสงฆ์เมืองโกสัมพี ที่ตั้งหน้าทะเลาะกันด้วยเรื่องวินัยอันเล็กน้อย โดยเข้าไปอยู่ในป่า มีลิงและช้างเป็นผู้อุปฐาก จนในที่สุดชาวเมืองต้องลงโทษภิกษุสงฆ์ทั้ง 2 ฝ่าย แล้วจึงไปนิมนต์พระพุทธองค์ออกจากป่าต่อไป ในขณะที่เสด็จอยู่ในป่านั้น ลิงก็หาผลไม้และน้ำผึ้งมาถวาย ฉันน้ำผึ้งเสร็จแล้วก็จะนำขี้ผึ้งไปทำเทียนบูชาพระ จึงเห็นได้ว่าเทียนได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับประเพณีสำคัญ การถวายเทียนให้ภิกษุสามเณร ได้จุดบูชาพระรัตนตรัยในวันเข้าพรรษา โดยการรวบรวมเทียนไว้ถวายวัดเป็นจำนวนมาก เพื่อให้ได้จุดไปจนตลอดไตรมาส แต่ก่อนถวายกันเพียงเป็นเทียนขี้ผึ้งแท้ ๆ ชาวบ้านทำเอง เอาขึ้ผึ้งมารีดกับเส้นด้ายแล้วตัดให้ได้อันยาวตามสมควรแล้วนำไปถวายวัด ปัจจุบันได้มีการนำเทียนขี้ผึ้งมาผสมกับสารเคมี ทำให้แข็งตัวและแปรสภาพเป็นเทียนสีชนิดต่าง ๆ จนบางแห่งถือเป็นประเพณีใหญ่โต เช่นเทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานี

ปีนี้พรรษามาแล้ว ขอให้ชาวพุทธทุกคนทำใจให้มั่น รำลึกถึงวันสำคัญนี้ ผู้ใดจะอธิษฐานจิตอย่างไรก็ตั้งใจให้แน่วแน่ ก็จะเกิดอานิสงส์กับตัวเองเป็นเอนกอนันต์ เช่นในพรรษาจะงดบุหรี่ จะงดเที่ยวเตร่ จะงดดื่มสุราเมรัย ตลอดจนงดการทำชั่วทั้งมวล ทำบุญเมตตากรุณา และชำระจิตที่มัวหมองมืดมนให้เป็นจิตสะอาดสว่างไสวตลอดไป ก็จะเป็นกุศลแก่ตัวเองและครอบครัวยิ่ง


(จากหนังสือ มหาอุดม์ และออนซอนอีสาน ชุดที่ 1 โดย รศ.อุดม บัวศรี)